A Free Template From Joomlashack

A Free Template From Joomlashack

Share on facebook
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา
ป้ายโฆษณา

Facebook

Twitter

Google Plus

YouTube

ป้ายโฆษณา
มหาวิทยาลัยธนบุรี วิทยาเขตภาคเหนือ จังหวัดลำพูน | พิมพ์ |

มหาวิทยาลัยธนบุรี
วิทยาเขตภาคเหนือ จังหวัดลำพูน
*********************************************************
วิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครูภาคเหนือ ซึ่งเป็นวิทยาลัยในเครือของผู้รับใบอนุญาตมหาวิทยาลัยธนบุรี ตั้งอยู่บริเวณทางแยกถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-เชียงใหม่ กิโลเมตรที่ 75 เลขที่ 197  หมู่ 8  ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน บนเนื้อที่ 291 ไร่ ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ.2528 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. ในปีการศึกษา 2551 จำนวน 1,411 คน ในปีการศึกษา 2550 วิทยาลัยได้ก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เพื่อใช้จัดการเรียนการสอน เป็นอาคาร 4 ชั้นมีเนื้อที่ใช้สอยประมาณ 7,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องเรียนและห้องปฏิบัติการตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ
สถานที่ตั้งของวิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครูภาคเหนือ อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ประมาณ 9 กิโลเมตร จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่ามีพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือประมาณ 60,000 คน ส่วนใหญ่จบระดับการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โอกาสจะศึกษาต่อของพนักงานค่อนข้างน้อยเนื่องจากในจังหวัดลำพูนไม่มีสถาบันอุดมศึกษาที่จะบริการด้านอุดมศึกษาได้เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ



ดังนั้นเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาพร้อมทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากรของประเทศ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธนบุรี เห็นว่าควรเปิดศูนย์การศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดลำพูนโดยใช้สถานที่ในวิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครูภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ซึ่งมีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ และ สิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดการศึกษาอย่างเพียงพอ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยธนบุรีมีความพร้อมที่จะจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานไม่แตกต่างจากการจัดในมหาวิทยาลัยธนบุรี

วัตถุประสงค์ในการดำเนินการ
1.  เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่กลุ่มเป้าหมาย
2.  เพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาตนเองของพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ   โดยใช้เวลาศึกษาในวันหยุดและหลังเลิกงาน
3.  เพื่อขยายเครือข่ายการบริการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศให้มากขึ้น
4.  เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5.  เพื่อสนับสนุนและแบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

*********************************************************

1. หลักการและเหตุผล

การศึกษาพัฒนาคน พัฒนาชาติ การพัฒนาประเทศไทย 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิธีใหม่ รูปแบบใหม่ บริการใหม่ ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้หน่วยงานรัฐมุ่งหวังยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางสูู่รายได้สูง ขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่สมดุลในการพัฒนาสู่ความเป็นประเทศโลกที่ 1 ในปี 2579 ประเทศไทย 4.0 จึงต้องมุ่งสร้างสังคมคุณภาพอย่างน้อยใน 4 มิติ ได้แก่ โอกาสที่เป็นธรรมอย่างถ้วนทั่ว ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ความสมานฉันท์ของคนในสังคม และเติมเต็มศักยภาพของคนในสังคม การศึกษาซึ่งอยู่ในมิติของสังคมจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสร้างคนไทยให้มีสมรรถนะสูง มีคุณภาพและมีมาตรฐานระดับสากลจึงจะมีศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติให้กับประเทศได้ การพัฒนาคนไทยให้เป็นคนไทย 4.0 เท่านั้นจึงจะขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ได้ เพราะคนไทย 4.0 จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ สมรรถนะระดับสูงเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล รวมทั้งต้องเป็นผู้มีจิตสาธารณะ มีความรับผิดชอบต่อสังคม ชาติ และโลก มีคุณธรรม จริยธรรม มีความสามารถเป็น Digital Thai และ Global Thai รวมทั้งทักษะของศตวรรษที่ 21 อื่นโดยเฉพาะ ICT และ Innovation แม้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ได้กำหนดเอาเรื่องการศึกษามาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญหนึ่งใน 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) ซึ่งเป็นแผน 5 ปีแรกที่ใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เน้นการสร้างความพร้อมเพรียง คน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย กำหนดแนวคิดทิศทางกลไกการขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผล การพัฒนาประเทศเน้นเรื่องการพัฒนาคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาเมือง พัฒนาภาคพื้นที่เศรษฐกิจฯ แม้จะเห็นว่าประเทศมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น คุณภาพคนไทยต่ำทั้งด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม การไม่เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ นอกจากนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ยังได้กำหนดจุดเน้นการพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาและทุนมนุษย์ว่าต้อง

1. พัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปขับเคลื่อนการพัฒนามิติอื่น เช่น กระบวนการผลิตและการบริการ

2. การเตรียมความพร้อมกำลังคนและการส่งเสริมศักยภาพของคนทุกช่วงวัย เน้นการพัฒนาคนให้เป็นทุนมนุษย์ศักยภาพสูงโดยเฉพาะคนวัยแรงงาน

3. พัฒนาคนไทยเป็นคนดีสมบูรณ์ด้านวินัย ทัศนคติ และพฤติกรรมตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม มีสุขภาพและจิตใจดี เจริญงอกงามทางวิญญาณ และมีชีวิตที่พอเพียง

4. พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และกระจายอำนาจโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 รวมทั้ง คณะกรรมการอิสระปฏิรูปการศึกษาก็ได้สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการศึกษา 7 เรื่อง 28 ประเด็น ซึ่งแผนการปฏิรูปทั้ง 2 ฉบับมุ่งให้มีกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพแก่คนไทยทุกคน ทุกช่วงวัย และการศึกษาตลอดชีวิตแก่ปวงชน ซึ่งกล่าวได้ว่า การศึกษามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนอย่างมีผลสัมฤทธิ์ต่อการพัฒนาประเทศไทย 4.0

มหาวิทยาลัยธนบุรี เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ พ.ศ.2541 ในชื่อ “วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี” และได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อและประเภทเป็น “มหาวิทยาลัยธนบุรี” เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2550 ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี มหาวิทยาลัยธนบุรีมุ่งมั่นพัฒนา ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ จนเป็นที่ยอมรับทั้งจากบัณฑิต ผู้ใช้บัณฑิต และผู้ปกครอง ทำให้มหาวิทยาลัยธนบุรีมีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ เห็นได้จากมีจำนวนผู้เข้าศึกษากับมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นทุกปีการศึกษา

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธนบุรียังได้ดำเนินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครูภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 จนถึงปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2564) โดยทุกหลักสูตรที่เปิดสอนได้รับการรับรองมาตรฐานและได้รับการรับทราบจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดังนั้นมหาวิทยาลัยธนบุรีจึงมีศักยภาพพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่นหรือจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญในภาคเหนือตอนบนที่มีความพร้อมในการพัฒนาไปสู่ความเข้มแข็งในหลายด้าน ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศด้วยการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยธนบุรีจึงมีความสำคัญในหลายประการ กล่าวคือ

1. เป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กับคนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนในทุกมิติ ตามบทบาทและพันธกิจของสถาบันอุดมศึกษา

2. จังหวัดลำพูนยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาอยู่ในพื้นที่ ส่งผลให้การพัฒนาคนเป็นไปอย่างไม่เต็มศักยภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานจำนวนมากที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัด

3. เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เท่าทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ

ด้วยศักยภาพด้านการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยธนบุรี ที่มีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ สิ่งสนับสนุนการศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประกอบกับความมุ่งมั่นที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ จึงมีความประสงค์ที่จะยกระดับการบริหารจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครูภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยธนบุรี วิทยาเขตภาคเหนือ จังหวัดลำพูน” ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการศึกษามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียงให้มีคุณภาพ เป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติได้ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันพุธที่ 12 กันยายน 2561 เรื่อง การจัดตั้งวิทยาเขตของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เป็นการแบ่งส่วนงานและการจัดระบบบริหารงานภายใน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบหรือข้อบังคับของสภาสถาบันตามมาตรา 19 และอำนาจของสภาสถาบันตามมาตรา 34 (9) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 จากความสำคัญดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยธนบุรี จึงได้ดำเนินการ “จัดตั้งมหาวิทยาลัยธนบุรี วิทยาเขตภาคเหนือ จังหวัดลำพูน” โดยมีแผนเปิดดำเนินการในปีการศึกษา 2565 ซึ่งมหาวิทยาลัยธนบุรีมีความพร้อมในการจัดการศึกษา และพัฒนาการศึกษา พัฒนาบุคลากรในระดับอุดมศึกษาให้มีศักยภาพ รองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น และการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับคนในพื้นที่ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

Share
 
 
Joomla 1.5 Templates by Joomlashack